ยูยิสสู คือ อะไร
ยูยิสสู มีความหมายถึง ศิลปะแห่งความอ่อนโยน จากยุคสมัยของซามูไรซึ่งมีการรบพุ่งกันเกือบทั้งปี ศิลปะการต่อสู้มือเปล่าของญี่ปุ่นนั้นมีการพัฒนาต่อ ๆ มาโดยใช้ชื่อต่าง ๆ กันไป เช่น ยาวาระ, ไทจุสสุ, คุมิอุชิ และ ยูโด (ตามหลักฐานที่มีคำว่ายูโดจริง ๆ แล้วมีขึ้นมาก่อนที่ จิโกโร คาโน จะนำมาใช้เรียกวิชายูโดของตนกว่าสองร้อยปี)
โดยต่อมาชื่อของยูยิสสูก็ได้เกิดขึ้นมาเมื่อประมาณแปดร้อยกว่าปีก่อนในสมัยมุโรมาชิ เพื่อนำมาใช้เป็นคำเรียกกลาง ๆ ของวิชาที่มีการคว้าจับทั้งหมด ในช่วงนั้นวิชายูยิสสูยังไม่ได้มีการพัฒนาอย่างมีระเบียบมากนักเป็นแค่คำกลว่าเรียกวิชาแบบรวม ๆ โดยชื่อของยูยิสสูต้องการสื่อให้เห็นว่าเป็นวิชาที่ใช้แรงน้อย และ ใช้แรงจากคู่ต่อสู้เพื่อที่จะย้อนกลับไปทำลายตัวคู่ต่อสู้เอง
กล่าวกันว่าในระหว่างศตวรรษที่ 8 และ 16 ซึ่งเป็นช่วงแห่งสงครามกลางเมือง มีการคิดค้นอาวุธใหม่ ๆ ขึ้นจำนวนมาก การต่อสู้ในระยะประชิดก็ได้ถูกคิดค้นเพื่อต่อสู้กับอาวุธนั้น นอกจากนี้ในการต่อสู้อาจจะมีเหตุการณ์ที่ซามูไรมีโอกาสตกอยู่ในสภาพที่ใช้ดาบหรืออาวุธหลักอื่น ๆ เช่น หอกหรือง้าวไม่ได้ วิชายูยิสสูในช่วงแรกจึงมีการฝึกการใช้อาวุธ เช่น ดาบสั้น มีด หรือ กริชญี่ปุ่น เพื่อที่จะใช้ต่อสู้กับอาวุธหลักของศัตรูควบคู่กับกับการฝึกด้านการต่อสู้มือเปล่า
จาการที่อยู่ในยุคสมัยของสงครามกลางเมืองของญี่ปุ่น ทำให้วิชายูยิสสูมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ต่อมาในสมัยเอโดะซึ่งมีความสงบสุขมากขึ้น วิชายูยิสสูในสำนักต่าง ๆ ได้มีการจัดระเบียบแบบแผนของตนเอง โดยพัฒนาจากวิชาการต่อสู้มือเปล่าต่าง ๆ ในสมัยมุโรมาชิ มาสร้างรูปแบบและพัฒนาอย่างมีหลักการวิชาที่เกิดในช่วงนี้มักถูกเรียกว่าเอโดะ ยูยิสสู ซึ่งวิชาเหล่านี้เองต่อมาได้เป็นรูปแบบของยูยิสสูของญี่ปุ่นต่อมา
ต่อมามักเรียกยูยิสสูอีกชื่อหนึ่งคือ โคริว ยูยิสสู ซึ่งหมายถึง ยูยิสสูแบบโบราณหลังจากปลายยุคเอโดะ (1868) ยูยิสสูก็ยังได้ถูกพัฒนาต่อไปโดยตอนนั้นว่ากันว่ามีโรงฝึกยูยิสสูมากกว่าสองพันสำนักเปิดขึ้นทั่วญี่ปุ่น โดยวิชายูยิสสูที่เกิดขึ้นในยุคหลังเอโดะนี้จะเริ่มถูกเรียกว่าเก็นได ยูยิสสู ซึ่งหมายถึงยูยิสสูแบบใหม่ แม้ว่าจะพัฒนาจากยูยิสสูโบราณ
วิชายูยิสสูสมัยใหม่ก็ได้เริ่มปรับให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น เช่น การลดการฝึกกับอาวุธ การลดการฝึกกับชุดเกราะ และ เน้นไปที่การต่อสู้มือเปล่าเพิ่มขึ้น รวมทั้งเริ่มเน้นการฝึกจับกุม ซึ่งต่อมายูยิสสูประเภทของเก็นได ยูยิสสูนี่เอง
ที่ได้ถูกนำไปใช้โดยกลุ่มผู้รักษากฏหมายทั่วโลก ต่อมายูยิสสูได้ถูกแพร่หลายออกไปในต่างประเทศเพื่อสอนให้กับผู้รักษากฏหมาย ทำให้เกิดพัฒนาการของยูยิสสูในต่างแดน และ เกิดยูยิสสูสายใหม่ ๆ ขึ้นอีกจำนวนมาก ก่อนที่ภายหลังนั้นวิชายูยิสสูแบบใหม่ในชื่อของคาโน่ ยูโด ของจิโกโร คาโนได้ถูกพัฒนา ภายหลังเปลี่ยนชื่อไปเป็นยูโด และ เปิดรับสำนักยูยิสสูจำนวนมากเข้าไปร่วมด้วย ทำให้สำนักยูยิสสูของญี่ปุ่นเองเหลือจำนวนน้อย แต่ทางกลับกันยูยิสสูที่ได้ถูกพัฒนาในต่างแดนจำนวนมากไม่ได้ถูกเปลี่ยนและรวมเข้าไปกับยูโดทำให้ในต่างแดนก็ยังมียูยิสสูหลาย ๆ สำนักหลาย ๆ สายยังคงเปิดอยู่ ในหลาย ๆ สำนักก็ได้ถูกรวมเข้ากับวิชาในพื้นที่ เช่น ที่ฮาวายก็มีวิชายูยิสสูในรูปแบบของตนเอง
แนวคิดในการต่อสู้ของวิชายูยิสสู
ในอดีต มีโรงฝึกยูยิสสูแต่ละสำนักจะพัฒนาวิชาของตนเองในรูปแบบและแนวทางต่าง ๆ กันไป บางสำนักจะเน้นการต่อสู้ด้วยจากจู่โจม เช่น การต่อยเตะ บางสำนักเน้นการต่อสู้ด้วยการจับล๊อค บางสำนักเน้นการต่อสู้กับอาวุธ และ การต่อสู้ด้วยการใช้อาวุธ จากความหลากหลายของวิชาที่มีจำนวนมาก วิชายูยิสสูจึงมักถูกกล่าวว่าเป็นวิชาที่มีทุกอย่าง และ ทำได้ทุกอย่าง
ยูยิสสูในประเทศไทย
ยูยิสสูในประเทศไทยนั้นถูกนำเข้ามาเกือบร้อยปีก่อนซึ่งมีบันทึกหลงเหลืออยู่ค่อนข้างน้อย กล่าวกันว่ายูยิสสูเริ่มถูกสอนในไทยครั้งแรกโดยมีชาวญี่ปุ่นที่ทำงานที่ประเทศไทยในบริษัทญี่ปุ่นชื่อมิตซุยบุนเซน มาสอนวิชายูยิสสูให้ผู้ร่วมงานที่บริษัท และ ต่อมาหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุลซึ่งได้ศึกษาวิชายูยิสสูจากต่างประเทศ ได้เห็นความสำคัญของวิชายูยิสสูและได้นำเอายูยิตสูเข้าไปสอนในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ โดยทรงทำการฝึกสอนด้วยพระองค์เองและยังทรงสอนให้กับคณะครูในกระทรวงธรรมการในขณะนั้นอีกด้วย ต่อมายูยิสสูได้แพร่หลายไปตามสถานที่ต่าง ๆ และ ถูกสอนอยู่ในสถานศึกษาหลาย ๆ ที่ก่อนที่ภายหลังจะเปลี่ยนเป็นวิชายูโด
จากหนังสือ " ที่ระลึกเทพศิรินทร์ สัมพันธ์'30 " หน้า 38-39 … นับตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2464 อันเป็นวันเปิดโรงยิมหรือโรงพลศึกษา หรือห้องยิมสุดแล้วแต่จะเรียก สถานที่นี้ฏ็คือที่ฝึกนักเรียนเทพศิรินทร์ให้เป็นชายสมชาย สอนให้รู้จักแพ้ชนะและการให้อภัย
|